.. ........................................................................................................................... Wednesday, November 28, 2012 11:40 AM























 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   วิวัฒนาการในการบินของนก     นกมีวิวัฒนาการมานานหลายล้านปีเพื่อให้สามารถบินในอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหาอาหาร ทำรังวางไข่ หลบหลีกศัตรู และย้ายถิ่นอาศัย โดยนกต้องพึ่งพาปีกซึ่งพัฒนามาจากขาหน้า เป็นเครื่องมือสำคัญในการบิน นกในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการในการบิน จนกระทั่งโครงสร้างร่างกายทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนอวัยวะต่างๆได้พัฒนา จนมีความเหมาะสมสำหรับการบิน

นกที่บินไม่ได้
      นกหลายชนิดบินไม่ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการบิน ปีกจึงหดเล็กลงจนใช้บินไม่ได้เลย เช่น นกกระจอกเทศซึ่งเดินหากินอยู่ตามทุ่งโล่ง ไม่จำเป็นต้องบินหาอาหาร จึงมีขายาวสำหรับวิ่งแทนการใช้ปีกบิน นกเพนกวินที่อาศัยในแถบขั้วโลกใต้ ปีกพัฒนาให้ทำหน้าที่คล้ายครีบ สำหรับว่ายจับสัตว์น้ำกินอย่างคล่องแคล่ว
ตัวอย่างเช่น นกกระจอกเทศ เป็นนกที่บินไม่ได้

กระดูกกลวง
      กระดูกนกมีลักษณะกลวงเป็นโพรง ทำให้นกมีน้ำหนักเบา สามารถลอยตัวในอากาศได้ง่าย ภายในโพรงมีก้านกระดูก ทำหน้าที่เป็นเสาหลักค้ำจุน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระดูก

ลักษณะกระดูกของนก

ถุงลม ลักษณะถุงลมที่อยู่ในตัวของนก
      นกมีถุงลมกระจายอยู่ทั่วตัวเพื่อช่วยในการหายใจ เนื่องจากนกจำเป็นต้องใช้อากาศเป็นจำนวนมากในระหว่างบิน


ลักษณะปีกของนก โครงสร้างกระดูกภายในตัวนก
      ปีกของนกมีขนาด และรูปร่างต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของนกแต่ละชนิด ดังนี้

           ปีกแคบและยาว เหมาะสำหรับการร่อนโดยเฉพาะ พบในนกทะเลที่ชอบร่อนเหนือน้ำทั้งวัน โดยแทบไม่กระพือปีกเลย เช่น นกโจรสลัด

           ปีกแบบ เรียวบาง และลู่ไปทางด้านท้าย ช่วยให้บินได้เร็วและเลี้ยวไปมาอย่างคล่องแคล่ว พบในนกที่บินหากินตลอดเวลา เช่น นกนางแอ่น และนกที่บินย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลๆ เช่น นกชายเลน

           ปีกโค้งใหญ่ และปลายขนปีกแยกจากกัน สำหรับร่อนที่สูง ช่วยให้นกบินลอยตัวได้สูงขึ้น และร่อนตามลมได้ดี พบในนกขนาดใหญ่ที่ร่อนหากินระดับสูง เช่น นกอินทรี แร้ง

           ปีกแคบและสั้น เหมาะสำหรับบินเร็วๆ ช่วงสั้นๆ ส่วยใหญ่พบในนกที่อาศัยอยู่ตามป่า เช่น นกเขา นกปรอด

รูปแบบการบิน

      การบินของนกมีรูปแบบแตกต่างกันอยู่ 4 แบบ ดังนี้

           การบินโบกปีก (flapping) เป็นการบินโบกปีกขึ้นลง แบบที่เห็นนกบินทั่วไป

           การบินทรงตัวอยู่กับที่ (hovering) เป็นการบินโดยกระพือปีกเร็วๆ จนเกิดแรงยกต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ให้ทรงตัวนิ่งอยู่กลางอากาศ ส่วนใหญ่เป็นนกตามทุ่งโล่ง เช่น เหยี่ยวขาว นกกะเต็นปักหลัก

           การบินร่อนลดระดับ (gliding) เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุดของการบิน เพียงทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้า ให้น้ำหนักตัวมากกว่าแรงต้านทานของอากาศ นกก็สามารถร่อนและลดระดับลงต่ำได้

           การบินร่อนรักษาระดับ (soaring) ส่วนใหญ่ตองเป็นนกขนาดใหญ่ ถึงจะร่อนแบบนี้ได้โดยไม่เสียการทรงตัว นกอินทรีจะอาศัยอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นจากพื้นดิน ช่วยพยุงตัวให้ร่อนอยู่กลางอากาศ ส่วนนกทะเลจะใช้ กระแสลมช่วยพัดตัวพุ่งไปข้างหน้า และจะร่อนอยู่ด้วยแรงเฉื่อย จนมีกระแสลมพัดมาใหม่